Energy Transition ถึงเวลาธุรกิจของคุณ! ลงทุนพลังงานหมุนเวียนวันนี้ เก็บเกี่ยวผลตอบแทนอีกยาวนาน

Article


โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญในแง่ของการใช้พลังงานที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เห็นกันทุกวันนี้ จะเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงกว่านี้อีกหลายเท่า

วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกวันนี้เราจึงเห็นความพยายามในการหาโซลูชั่นใหม่ๆ ของประเทศและธุรกิจชั้นนำของโลก ผู้นำธุรกิจระดับนานาชาติที่มีวิสัยทัศน์ได้นำหน้าไปหลายก้าวแล้วด้วยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เริ่มพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆในการลดรอยเท้าคาร์บอน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และส่งเสริมระบบพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น

ในประเทศไทย ธุรกิจรายใหญ่ต่างขยับตัวปรับ-เปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ในการผลิตและลงทุนบนพื้นฐานของพลังงานหมุนเวียน เพราะทุกคนรู้ดีว่าแนวทางเดิมๆ นั้นเป็นทางตันที่ไปต่ออีกได้ไม่ไกล เช่นเดียวกับความคืบหน้าของนโยบายจากรัฐบาลไทยที่พยายามตามให้ทันทิศทางโลกที่เน้นการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม



01 เมื่อภาคพลังงานคือตัวการวิกฤตโลก

แม้พลังงานจะเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” แหล่งพลังงานหลักของโลกในปัจจุบัน กลับเป็นตัวการสำคัญของวิกฤตมากมายที่กำลังเกิดขึ้น

ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3 ใน 4 ของโลก และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ทำให้ความหนาแน่นของคาร์บอนอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้คือสาเหตุของสภาวะโลกร้อน 7 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่อุณหภูมิของโลกร้อนที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการบันทึก และในเวลา 5 ปี นับจากนี้ มีโอกาส 50:50 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นชั่วคราวถึงขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียล ซึ่งเป็นระดับที่สร้างผลกระทบด้านสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดอย่างไม่มีวันหวนคืน 

ในทางกลับกัน แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม และพลังน้ำ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้การผลิต การขนส่ง และการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียนจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบ้าง แต่ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับขั้นตอนเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นทางตันต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโลก 

"การเปลี่ยนผ่านของภาคส่วนพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนกว่าเท่านั้นคือทางรอด"

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสั่นคลอนความมั่นคงด้านพลังงานของมนุษยชาติ อย่างการเกิดคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์ในบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี 2022 ที่ส่งผลให้เกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ซึ่งกระทบต่อผู้คนราว 700,000 คน หรือเหตุการณ์ฝนเยือกแข็งในประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2020 ที่ทำให้บ้านเรือนหลายแสนหลังไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายวัน 

ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจและบริษัทใหญ่ทั่วโลกต่างเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero และพลังงานก็ถือเป็นกุญแจสำคัญในข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



02 เศรษฐกิจไม่รอด ถ้าไม่เปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด 

ทุกวันนี้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนหาได้ง่ายขึ้น และส่วนใหญ่มีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว อย่างไรก็ตามข้อมูลจากรายงาน 2022 State of Climate Services: Energy ระบุว่าภาคการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนจำเป็นต้องเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2050 ไม่เช่นนั้นโลกจะไม่สามารถบรรลุ Net Zero ได้ และความท้าทายของประเด็นนี้ก็คือเงินทุน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเกี่ยวกับพลังงานสะอาดเท่าที่ควรจะเป็น

ในระดับนานาชาติ ผู้นำการขับเคลื่อนของโลกอย่างสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 82 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ขณะที่โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรีย ได้ตั้งเป้ายุติการใช้เชื้อเพลิง ฟอสซิลให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีเดียวกัน 

แม้จีนจะเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงที่สุดในโลก แต่ก็อัดฉีดเงินมหาศาลในภาคพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณวิจัย และเริ่มอัดฉีดเงิน สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อเยียวยาปัญหามลพิษ รัฐบาลจีนยังได้สนับสนุนบริษัทเอกชนที่ลงทุนด้านการใช้พลังงานสะอาดแทนถ่านหิน ผ่านขยายการให้สินเชื่อและให้เงินอุดหนุนรูปแบบต่างๆ จนปัจจุบัน จีนมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากเกือบถึงครึ่งหนึ่งของโลก

สำหรับประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 เริ่มมีแนวนโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด Green Hydrogen โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ภาคเอกชนและสถาบันวิจัยต่างๆ เช่น สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมกันจัดตั้งกลยุทธ์สนับสนุน Green Hydrogen เชิงพาณิชย์ทั้งด้านการพัฒนาตลาด การส่งเสริมการวิจัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ไฮโดรเจน คือธาตุที่พบมากที่สุดในธรรมชาติ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้ผลผลิตเป็นน้ำและพลังงาน เทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบันทำให้เราสามารถสกัดไฮโดรเจนออกจากวัตถุดิบต่างๆ ได้ และเมื่อนำไฮโดรเจนเหล่านั้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า มันจะให้ค่าพลังงานสูงกว่าเชื้อเพลิงทั่วไปถึง 2-4 เท่า วัตถุดิบที่แตกต่างกันในขั้นตอนการสกัดไฮโดรเจน ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกไม่เท่ากัน พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด Green Hydrogen ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาคือไฮโดรเจนที่ปราศจากคาร์บอน ซึ่งผลิตขึ้นจากพลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์ น้ำ หรือลม 

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์จำนวนไม่มาก ปริมาณการใช้ไฮโดรเจนจึงยังจำกัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท โดยเริ่มมีการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงานไฟฟ้า ภาคพลังงานความร้อนสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และในภาคขนส่งสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือรถ BEV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่และรถ FCEV ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน อย่างไรก็ตามสถานีให้บริการสำหรับเติมไฮโดรเจนนั้นมีราคาสูงกว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาก เพื่อลดต้นทุนส่วนของโครงสร้างพื้นฐานลง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานการเติมเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งให้เป็นแบบ “hub-and-spoke” ซึ่งมีการรวมศูนย์เข้าหากันก่อนจะ (hub) และกระจายออกไป (spoke)



03 ลงทุนด้านพลังงาน กำไรระยะยาวของธุรกิจ

ทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไปคือโอกาสใหม่ๆ ของการลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาว ทุกวันนี้ผู้ผลิตหลายรายชะลอหรือหยุดการลงทุนในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม และหันไปลงทุนในพลังงานทางเลือกอื่นๆ ซึ่งในท้ายที่สุด จะไปลดการเติบโตของอุปทานเชื้อเพลิงดั้งเดิมของตลาดโลก

อย่างล่าสุด ปตท. กลุ่มบริษัทน้ำมันและก๊าซของไทยได้ไปจับมือกับ ACWA Power บริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของซาอุดิอาระเบียผลิตไฮโดรเจนสีเขียว โดย ปตท. จะลงทุนถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 และขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน การลงทุนครั้งนี้เป็นหนึ่งในแนวทางของ ปตท. ที่จะลดการปล่อยคาร์บอน ขณะเดียวกันก็ยังรักษาผลกำไรให้คงอยู่

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในระดับองค์กร ผู้บริหารต้องตระหนักว่าเงินลงทุนที่ต้องจ่ายล่วงหน้าสำหรับดำเนินการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่าย ตลอดอายุการใช้งาน นั่นหมายความว่าการลงทุนครั้งใหญ่ในตอนนี้ จะสร้างผลตอบแทนมหาศาลให้เก็บเกี่ยวต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า 

  • สร้างพลังงานที่มั่นคงให้บริษัท การมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นของตัวเอง ช่วยให้บริษัทไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังผลิตกระแสไฟด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ บริษัทจะสามารถคาดการณ์ต้นทุนด้านพลังงานในอนาคตได้อย่างแม่นยำ แม้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลโลกจะผันผวนก็ตาม

  • สร้างภาพลักษณ์ที่สร้างกำไร ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเรียกร้องให้บริษัทที่พวกเขาอุดหนุนแสดงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนของบริษัท สร้างการรับรู้ให้สาธารณชนเห็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่มีความหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยสร้างความภักดีของลูกค้าและดึงดูดลูกค้าใหม่
  • สร้างผลบวกจากนโยบายสีเขียว อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เกี่ยวกับการ take action อย่างจริงจังของรัฐบาลทั่วโลก ในด้านนโยบายและกฏหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน บริษัทที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้รับการงดเว้นในเรื่องภาษีและค่าปรับ ทั้งยังจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงสามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่จะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบริษัทที่ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนจะสร้างโอกาสงานตลอดห่วงโซ่มากกว่าเชื้อเพลิง ฟอสซิลหลายเท่า ตามข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ที่ได้ ประมาณไว้ว่า แม้การจ้างงานจากภาคพลังงานสะอาดจะสามารถสร้างงานใหม่ได้ถึง 42 ล้านตำแหน่ง แต่การจ้างงานในภาคพลังงานดั้งเดิมจะลดลงไปถึง 8 ล้านตำแหน่ง ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจน องค์กรต้องลงทุนให้เกิดการฝึกอบรมทักษะให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

โครงการจัดทำแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้ภาคพลังงาน การผลิต และเชิงพาณิชย์ ของประเทศไทยที่ได้กล่าวไปข้างต้น ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายไว้ว่า “ประเทศไทยจะเริ่มใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงานตั้งแต่ปี 2030 และเติบโตอย่างยั่งยืนจนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050”

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักควบคู่ไปกับ Energy Transition คือ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม แม้เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานสะอาดจะสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นแล้ว แต่ก็ยังราคาสูงเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ ดั้งเดิม และผู้บริโภครายได้น้อยก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นเอง ยุคสมัยแห่งพลังงานหมุนเวียนจะเกิดขึ้นได้ อย่างสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงระบบพลังงานคาร์บอนต่ำที่มีเสถียรภาพ ตลอดจนโอกาสในการจ้างงานได้อย่างเสมอภาคยุติธรรม 


ข้อมูลอ้างอิง

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้