สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) โดย BHR Academy จัดอบรมออนไลน์เรื่อง “การสร้างความรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (EU) ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (EU Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) และ EU Regulation on Forced Labour)” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ ดร.ภัทรพงษ์ แสงไกร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2568 ในรูปแบบ Webinar เพื่อสร้างความเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดสหภาพยุโรป (EU) ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และเรียนรู้กรอบนโยบายของประเทศไทยในการส่งเสริมธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนให้ดำเนินตามหลักการยั่งยืน
ดร.ขวัญฤทัย ศิริพัฒนโกศล รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงานถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบของบริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยกำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อระบุ ป้องกัน บรรเทา และรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในมุมของภาคธุรกิจไทยควรเตรียมตัวและรับมืออย่างไรในอนาคต ให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรบจากบริษัทสมาชิกของ GCNT บริษัทในห่วงโซ่อุปทาน และเครือข่ายพันธมิตรกว่า 60 คน
ดร.ภัทรพงษ์ แสงไกร กล่าวแนะนำว่าธุรกิจไทยควรศึกษารายละเอียด Due Diligence ตามขอบเขตกฎหมายของ EUCSDDD ครอบคลุม 2 เรื่องหลักคือ สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแต่ละขั้นตอนที่ต้องมีข้อตกลงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนด และข้อกำหนดเรื่องแรงงาน EU Regulation on Forced Labour ห้ามนำสินค้าที่ผลิตโดยการบังคับแรงงานมาวางขายในตลาดสหภาพยุโรป (EU) และห้ามส่งออกสินค้าเหล่านั้นออกจาก EU ด้วย
สำหรับมุมมองประเด็นสิทธิมนุษยชนในบริษัทไทย คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ อธิบายถึงแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มีการเพิ่มประเด็นใหม่ๆ เข้าไปในแผนฯ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 การลดคาร์บอน การใช้พลังงานไฟฟ้า แนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มการดำเนินการและเตรียมการรองรับมาตรฐานสากลอื่นๆ เช่น OECD, EU, IPEF ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
GCNT ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยสามารถเตรียมตัวและดำเนินการตามข้อกำหนดที่มีความสำคัญเหล่านี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาดภายในและตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้ธุรกิจไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืนในระยะยาว