- การเงินและการลงทุนเกี่ยวกับ SDGs มีส่วนช่วยระบุและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับองค์กรในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- มีส่วนช่วยดึงดูดนักลงทุนและเปิดโอกาสในการรับเม็ดเงินทุนจากแหล่งทุนใหม่ๆ รวมทั้งช่วยขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิงแวดล้อมและสังคม
องค์การสหประชาชาติประมาณการว่าโลกจะต้องระดมเงินถึง 3.3 - 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030 ขณะที่แหล่งข้อมูลอื่นๆ ระบุว่าช่องว่างหรือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่มีอยู่อาจสูงถึง 10-15 ล้านล้านดอลลาร์
การปิดช่องว่างดังกล่าว ต้องอาศัยการจัดหาทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติม ปัจจุบันภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงธุรกิจต่างๆ มีเม็ดเงินไหลเวียนอยู่เป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของ GDP
ในประเทศ เม็ดเงินนี้เป็นส่วนสำคัญที่สามารถนำมาใช้ปิดช่องว่างเพื่อช่วยให้โลกบรรลุ SDGs ได้
อย่างไรก็ตาม มีบริษัทเพียงประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ให้ความสำคัญและให้ SDGs เป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดในการลงทุน นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับผลกำไรระยะสั้นมากกว่าการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว โดยเกือบ 9 ใน 10 บริษัทระบุว่าระยะเวลาคืนทุนที่ยาวนาน ถือเป็นความท้าทายในการลงทุนในการดำเนินการ SDGs
- ระหว่างปี 2015 ถึง 2021 การหารือระหว่างผู้นำธุรกิจกับนักลงทุน มีการพูดถึง SDGs เพิ่มขึ้น 7 เท่า อย่างไรก็ตาม ความสนใจของพวกเขาลดลงมากกว่า 1 ใน 3 เนื่องจากวิกฤติโลกอื่นๆ เช่น
- โรคอุบัติใหม่ สงครามในยูเครน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
- การเพิ่มขึ้นของ SDG-Washing มาจากการไม่มีกฎหรือมาตรการที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจที่จะแสดงให้เห็นว่าได้ช่วยบรรลุเป้าหมาย SDGs อย่างไร เมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ธุรกิจบางแห่งจึงนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ บางบริษัทอาจไม่เข้าใจจริงๆหรือเป็นเรื่องยากสำหรับที่จะวัดผลกระทบที่แท้จริงได้ ขณะที่บางบริษัทพยายามสื่อสารเกินจริงเกี่ยวกับสิ่งดีๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่ทำ โดยไม่ระบุถึงประเด็นใหญ่ที่ต้องการความสนใจและการลงทุนมากกว่า
บทบาทของภาคธุรกิจ
UN Global Compact ได้จัดตั้งแพลตฟอร์ม CFO Coalition for the SDGs ขึ้น สำหรับแบ่งปัน พัฒนาแนวคิดและกรอบการทำงานใหม่ๆ รวมถึงให้คำแนะนำ ในการปลดล็อกเงินทุนภาคเอกชน และสร้างตลาดสำหรับการลงทุนด้าน SDGs โดยเน้นการทำงานร่วมกับ CFO ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการลงทุนขององค์กรมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ และจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเติบโต การสร้างมูลค่า และผลกระทบทางสังคม
การปรับกลยุทธ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับ SDGs จะปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ให้องค์กร ทั้งในแง่ของการดึงดูดนักลงทุนและเปิดโอกาสใหม่ในการลงทุน การปกป้องประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัทในระยะยาว ลดความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล รวมถึงป้องกันปัญหาด้านกฎหมายและชื่อเสียงขององค์กรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ยกตัวอย่าง การลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2021 ธุรกิจต่างๆ ใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตไปมากกว่าครึ่งล้านล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณมากเกินกว่าที่โลกจะทดแทนได้อย่างปลอดภัยถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจโลกก่อให้เกิดขยะพลาสติก 300 ล้านตัน และขยะอิเล็กทรอนิกส์ 54 ล้านตัน โดยมีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ถูกรวบรวมและรีไซเคิล ขณะที่วัตถุดิบส่วนใหญ่ไม่เคยกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของโลกอีกเลย
ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นให้เศรษฐกิจโลก ด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางหมุนเวียน บริษัทต่างๆ จะต้องปฏิรูปแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจใหม่ อุตสาหกรรมทั้งหมดจะต้องพัฒนาเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงเสนอบริการอื่นๆ ด้วย เช่น การเช่าผลิตภัณฑ์ หรือบริการซ่อมแซม
ผู้คนให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนขององค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การปรับวิสัยทัศน์และโมเดลธุรกิจใหม่ ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs แต่ยังปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ธนาคารโลกพบว่าธุรกิจที่เปลี่ยนจากการขายสินค้าเพียงครั้งเดียว (One-Off Sale) ไปสู่การให้บริการผ่านสินค้า (Equipment-as-a-Service) มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
- ธนาคารABN AMRO ใช้กรอบการทำงานชื่อ Framework for Impact Statements และ Impact-Weighted Accounts Framework เพื่อวัดผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบของธนาคารต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยได้เผยแพร่การวิเคราะห์นี้ใน Impact Report ตั้งแต่ปี 2018 และเมื่อเร็วๆ นี้ ABN AMRO ได้เริ่มพิจารณาผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ธนาคารให้ทุนสนับสนุน โดยจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวประกอบการตัดสินใจว่าจะยุติหรือดำเนินการกับลูกค้ารายนั้นๆ ต่อไป
- Schneider Electric บริษัทพลังงานสัญชาติฝรั่งเศสได้กำหนดแผนติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Schneider Sustainability Impact 2021-25) ประกอบไปด้วยเป้าหมาย 11 ข้อ และการวัดความคืบหน้าของการดำเนินงานทุกไตรมาส บริษัทไม่เพียงลงทุนในสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero การอนุรักษ์ธรรมชาติ และการพัฒนาสังคม แต่ยังได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) มูลค่า 650 ล้านยูโร เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น การหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความหลากหลายทางเพศ และการอบรมด้านการจัดการพลังงานแก่ผู้ด้อยโอกาส
- Indorama Ventures รีไซเคิลขวดพลาสติกไปมากกว่าหนึ่งแสนล้านขวด ในปี 2022 องค์กรเข้าถึงเงินทุนมูลค่ารวมกว่า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Loans) สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร (Blue Loans) และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) โดยเงินทุนดังกล่าวจะถูกกระจายลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรีไซเคิล ขยายระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุ่นเวียน พัฒนาเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงโครงการด้านความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการบรรลุเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขต 1 และ 2) ลง 30 เปอร์เซ็นต์
เป้าหมายปี 2030
1. การลงทุนขององค์กร ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และตั้งเป้าหมาย ขั้นตอนการติดตาม และรายงานผลดำเนินงาน ทั้งจำนวนและสัดส่วนการลงทุนด้าน SDGs
2. การกำหนดกลยุทธ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลการดำเนินการ พร้อมทั้งรายงานจำนวนเงินและสัดส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
Action Guide แนวปฏิบัติเพื่อเร่งให้เกิดผลลัพธ์ที่เร็วขึ้น
- จัดให้มีการนำระบบมาใช้วัดผลและติดตามผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม
- ระบุความเชื่อมโยงระหว่าง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กับ การลงทุนขององค์กรในทุกมิติ
- ระบุความเชื่อมโยงระหว่าง พื้นที่ปฏิบัติงานที่ต้องการเงินทุน/การลงทุนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- นำเกณฑ์การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Aligned Investments Criteria)มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการตัดสินใจสำหรับการลงทุนต่างๆขององค์กร
- จัดตั้งระบบเพื่อให้มั่นใจว่า การลงทุนที่เกี่ยวข้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Aligned Investment) มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างข้อมูลที่ควรเปิดเผย
- นิยามขององค์กรในประเด็น “การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Aligned Investment)” และ “การเงินที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Linked Finance)”
- การกำหนดเป้าหมายเรื่องจำนวนเงินลงทุนและสัดส่วนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Aligned Investments) ทั้งในส่วนเป้าหมายระยะยาว ปี 2030 และเป้าหมายระยะสั้น
- จำนวนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Aligned Investments) และสัดส่วน เงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เทียบกับเงินลงทุนปกติขององค์กร
- กลยุทธ์ด้านการเงินในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวทางดำเนินงาน
- จำนวนประเด็นด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Linked Financing)
- ผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือการเงินที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความโดดเด่นในการเชื่อมโยงการลงทุนที่เกี่ยวข้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน