Food Waste to Value โครงการสร้างมูลค่าให้ขยะเปียกในชุมชน ผ่านการจัดการอย่างถูกวิธี

Article

“อาหารเหลือทิ้ง มีมูลค่าเท่าไหร่” คำตอบของคำถามนี้อาจเป็นไปได้ตั้งแต่ศูนย์จนถึงติดลบ ขยะเปียกสร้างภาระในการกำจัดมากกว่าที่เราคิด ทำให้ขยะประเภทอื่นปนเปื้อน ก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ไปจนถึงสร้างก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศ

แต่รู้หรือไม่ว่าเพียงแค่จัดการอย่างถูกวิธี มูลค่าของขยะเปียกสามารถกลายเป็นบวกได้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปตัวเงินที่จับต้องได้จริงสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอีกด้วย

บทความนี้ จะพาผู้อ่านพลิกมุมมองต่อขยะเปียกให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของการสร้างมูลค่าเพิ่ม เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในระดับครัวเรือนที่น่าสนใจ

01 ความท้าทายของการจัดการขยะอาหาร

ท่ามกลางความไม่สมดุลของการจัดการอาหารทั่วโลก จากข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ มีประชากรโลกกว่า 800 ล้านคนยังใช้ชีวิตอยู่อย่างหิวโหย (SDG2: Zero Hunger) ในขณะที่วัตถุดิบอาหารกว่า 14% ของทั้งโลกถูกทิ้งไปในกระบวนการเก็บเกี่ยวที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอีก 17% ถูกปรุงเป็นอาหารที่เกินพอดี ไม่ถูกบริโภคและเน่าเสียไป (SDG12: Responsible Consumption and Production)

แต่ความสูญเสียด้านอาหารไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เมื่อเศษอาหารต้องเดินทางไปสู่การจัดการที่ปลายทาง เช่น การใช้รถบรรทุก รถตัก รถบดอัด เครื่องบดย่อย ฯลฯ เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ยิ่งไปกว่านั้น ในพื้นที่ที่ขยะอาหารมากล้นเกินกำลังจัดการ ขยะเปียกเหล่านี้จะไปจบที่หลุมฝังกลบขนาดใหญ่ การหมักหมมของขยะเปียกที่ไม่มีออกซิเจนเพียงพอทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

ทางออกอันดับแรก ที่ง่ายและทรงพลังมากที่สุดคือการลดอาหารเหลือทิ้ง ผลิตและบริโภคให้พอดีกัน แต่หากเราเลี่ยงการสร้างขยะอาหารไม่ได้จริง ๆ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง ไม่ให้ขยะต้องเดินทางออกนอกบ้าน นำมาสู่คำถามถัดไปคือ สังคมได้ให้เครื่องมือและแรงจูงใจที่มากพอแล้วหรือยัง ที่ผู้บริโภคจะหันมาจัดการขยะเปียกตั้งแต่ในครัวเรือน

02 โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน

หนึ่งในตัวอย่างการจัดการขยะเปียกต้นทางระดับครัวเรือนที่น่าสนใจ คือ โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยกระทรวงมหาดไทย ที่เริ่มจากการให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมการทำถังขยะเปียกในครัวเรือน โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยได้เริ่มทำกับชุมชนนำร่อง 5 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัดลำพูน จังหวัดลพบุรี จังหวัดเลย จังหวัดสงขลา และจังหวัดยโสธร

ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมล้อม และผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลงสนามทำวิจัยเรื่องการจัดการขยะเปียกในชุมชนมาอย่างยาวนาน จนสามารถผลักดันให้เป็นนโยบายระดับท้องถิ่นได้ในที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป เล่าว่า การเปลี่ยนมุมคิดว่า “ขยะคือทรัพยากรที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้” เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ ขยะเปียก (เศษอาหารเป็นส่วนใหญ่) และขยะแห้งมีเส้นทางการสร้างมูลค่าที่ต่างกัน ขยะเปียกมีเงื่อนไขเรื่องความชื้นที่ต้องจัดการให้เร็ว จึงต้องมีตัวช่วยให้คนจัดการได้ง่ายๆ ที่บ้าน คัดแยกและจัดการโดยไม่ต้องลงแรงหรือเงินทุนมาก ขณะที่ขยะแห้งส่วนใหญ่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและเกิดทรัพยากรหมุนเวียนต่อไปได้ หากแยกขยะเปียกได้ดีจะช่วยลดการปนเปื้อนของขยะแห้งเข้าสู่การจัดการได้ดียิ่งขึ้น

หนึ่งในความท้าทายของการติดตั้งถังขยะเปียกในครัวเรือนคือ การหารูปแบบของถังขยะเปียกให้ใกล้กับวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของผู้คนมากที่สุด เช่น ใช้ถังพลาสติกตัดก้น ขอเพียงแค่เศษอาหารสัมผัสกับแบคทีเรียในดินก็จะเกิดกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ เปลี่ยนจากการย่อยสลายแบบไร้อากาศตามหลุมฝังกลบที่ปลายทาง เป็นการย่อยสลายแบบมีอากาศ กลายเป็นสารปรับปรุงดินสำหรับใช้ในครัวเรือน

เสริมด้วยกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น เพิ่มฝาปิดถัง เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี ลดกลิ่นเหม็น ลดจำนวนหนอนและแมลงวัน หรือการสร้างแปลงผักชุมชนเพิ่มเติม ให้แต่ละบ้านได้นำปุ๋ยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวบ้านสามารถปลูกผักทานกันเองได้โดยไม่ต้องออกไปนอกชุมชน ในขณะที่บางบ้านนำผักมาขายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

03 สร้างภูมิคุ้มกันทางด้านการเงินให้กับชุมชน

นอกจากนี้ มีการทำโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: TVER) ในต้นปี 2566 ได้มีการดำเนินการทวนสอบการดำเนินการของโครงการและรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตของ 4 จังหวัดนำร่องที่เข้ารับการทวนสอบ ได้มีการดำเนินการใช้ถังขยะเปียกในจังหวัดทุกครัวเรือนและผลประเมินรับรองปริมาณการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นคาร์บอนเครดิต 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ซึ่งคาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้ได้มีภาคเอกชน คือธนาคารกสิกรไทยรับซื้อเรียบร้อยแล้ว เงินรายได้จากการขายนี้ได้ส่งกลับคืนสู่ชุมชนนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้ต่อไป ปัจจุบันโครงการนี้ได้การดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้มีการใช้ถังขยะเปียกทุกครัวเรือนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะได้รับคาร์บอนเครดิตซึ่งคือรายได้กลับคืนสู่ทุกชุมชนท้องถิ่นในอนาคต ตามระยะเวลาที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน TVER ต่อไป

ส่วนที่เหลือจากการแยกขยะเปียกออกมา คือขยะแห้งที่ไม่ปนเปื้อน ยังสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ที่ชุมชนโก่งธนู จ.ลพบุรี ได้ทำเรื่องการจัดการขยะครบวงจรจนเกิดเป็นธนาคารขยะชุมชน โดยสมาชิกชุมชนนำขยะไปขาย นอกจากมีรายได้ สมาชิกธนาคารขยะยังได้รับผลตอบแทนเป็นสวัสดิการในรูปแบบเงินสวัสดิการฌาปนกิจให้กับสมาชิก จากขยะไร้ค่ากลายเป็นแหล่งไมโครไฟแนนซ์และแหล่งสร้างงาน สร้างภูมิคุ้มกันทางด้านการเงินให้กับชุมชน

04 บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตคนเมืองอาจต้องใช้การจัดการขยะที่ต่างออกไป เนื่องจากพื้นที่ในการฝังถังขยะเปียกไม่เอื้ออำนวย เช่น บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม หอพัก ควรมีการจัดการขยะเปียกแบบรวม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดีคือ การเข้าถึงเครื่องมือการจัดการขยะเปียกที่ราคาจับต้องได้ เมื่อครัวเรือนไม่สามารถซื้อหา เครื่องย่อยสลายขยะอาหารในบ้านราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน ทำให้การผลักภาระให้รัฐจัดเก็บรวบรวมขยะเป็นทางออกที่ประหยัดกว่า แต่หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้กลายต้นทุนที่ประชาชนส่วนรวมต้องจ่ายทางอ้อม

มีตัวเลขที่น่าตกใจว่าต้นทุนการจัดการขยะในเมืองเกิน 60% มาจากค่ารวบรวมขยะนำไปส่งปลายทาง หากเราสามารถลดต้นทุนการขนส่งนี้ได้ องค์กรท้องถิ่นก็จะมีงบประมาณเหลือในการนำไปใช้กับปัญหาที่สำคัญเร่งด่วนด้านอื่นของสังคม

ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป แนะนำว่า อยากเสนอให้ภาคธุรกิจกระโดดเข้ามาสร้างนวัตกรรมการจัดการขยะเปียกต้นทางให้มากขึ้น ที่ช่วยให้ผู้บริโภคใช้ง่าย เข้าถึงได้ ประหยัดพลังงาน และสามารถขยายแนวคิดไปถึงการออกแบบบ้านหรือห้องครัวให้มีการจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสม เช่น ในต่างประเทศ มีการติดตั้งเครื่องกำจัดอาหารติดกับซิงค์ล้างจานโดยตรง เป็นต้น

การแข่งขันทางธุรกิจและการใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภค ย่อมทำให้นวัตกรรมเหล่านี้ราคาถูกลงในที่สุด โอกาสทางธุรกิจของการกำจัดอาหารต้นทางยังรวมไปถึงลูกค้าผู้ประกอบการ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม คาเฟ่ ที่มีเศษอาหารเหลือทุกวันแต่สู้ราคาเครื่องกำจัดเศษอาหารระดับอุตสาหกรรมหลักล้านบาทไม่ไหว นอกจากนี้ สารบำรุงดินที่ได้จากกระบวนการย่อย ยังเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจที่จะมารองรับการซื้อปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ต่อ ทำนองเดียวกับกลไกซื้อขายไฟจากการผลิตไฟฟ้าพลังสะอาดในครัวเรือน

ในกระบวนการ Food Waste to Value ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่รอนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่มาเติมเต็ม อย่างไรก็ตาม โอกาสทางธุรกิจต้องมาคู่กับความพร้อมในการลงทุนจึงจะเกิดขึ้นจริงได้ในที่สุด แหล่งเงินทุนที่สนับสนุนนวัตกรรมในห่วงโซ่การบริหารจัดการขยะเปียกจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้